เคล็ดลับ การเอาชนะความอิจฉาในใจ ที่ทำให้อยู่อย่างไม่มีความสุข

อ่าน 14,831

หากพูดถึงความอิจฉา หลายคนอาจนึกถึงแต่ความริษยาของนางร้ายในละครที่มีแต่อารมณ์โกรธเกลียด จนใครๆ ก็มองว่า ความรู้สึกอิจฉานั้นเป็นเรื่องเลวร้าย แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้เมื่อเกิดความรู้สึกเช่นนี้ขึ้นกับตนเอง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมนุษย์เราไม่สามารถแบ่งออกเป็นสีขาวหรือสีดำอย่างชัดเจน เพราะแต่ละคนล้วนแล้วแต่มีด้านดีและด้านไม่ดีปะปนกันเป็นสีเทา เช่นเดียวกันความรู้สึกอิจฉาที่อาจเกิดขึ้นได้จากความรู้สึกที่ไม่เท่าเทียม เมื่อคุณอยากได้ในสิ่งที่คนอื่นมี แต่คุณไม่สามารถมีได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการอิจฉาผู้อื่นจะเป็นเรื่องปกติ แต่ความรู้สึกนี้ก็นำไปสู่ความร้อนรุ่มพุ่งปรี๊ดในจิตใจ และทำให้เราอยู่อย่างไม่มีความสุขได้ ซึ่งการจะรับมือกับความรู้สึกอิจฉาผู้อื่นนั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ แต่หากคุณเรียนรู้ที่จะทำ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไปเช่นกัน โดย 5 อันดับวิธีการเอาชนะความอิจฉาในใจจะมีเคล็ดลับใดบ้างนั้น ตามเราไปดูกันค่ะ

5. ยอมรับความรู้สึกตัวเอง

ความรู้สึกอิจฉาจะมีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หากคุณยังวนเวียนอยู่กับความกังวลและความโกรธ ที่ถือเป็นการสุมไฟในใจให้มอดไหม้ยิ่งขึ้น แต่สำหรับวิธีที่จะช่วยลดพลังความอิจฉาให้อ่อนแอลงได้นั้น ก็คือการยอมรับว่าตัวเองกำลังอิจฉาอยู่นั่นเอง โดยวิธีการง่ายๆ ก็คือ ให้คุณนั่งเงียบๆ สังเกตความคิดของตัวเอง เมื่อเวลาผ่านไปสักพักจะพบว่าความอิจฉาที่เคยรุนแรงจะค่อยๆ ลดลงอย่างไม่น่าเชื่อทีเดียวค่ะ

4. ความอิจฉาเป็นเรื่องปกติ

การจะเอาชนะความอิจฉาได้ เราต้องเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อความอิจฉาเพื่อลดแรงต่อต้านภายในตัวเองเสียก่อน เพราะการที่เรารู้สึกอยากได้ในสิ่งที่เราไม่มี ถือเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน และเราไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิดกับความรู้สึกนี้ ตราบใดที่เราไม่ได้ทำผิดต่อผู้อื่น โดยการเข้าใจว่าความอิจฉาเป็นความรู้สึกปกตินั้นจะช่วยให้ลดความรู้สึกแย่ที่มีต่อตนเอง และลดแรงอิจฉาภายในใจลงได้อีกด้วย

3. เข้าใจแรงดึงดูดจากสิ่งที่ไม่มี

มาถึงวิธีอันดับ 3 ที่สามารถช่วยคุณรับมือกับความรู้สึกอิจฉาที่มาจากความกลัวและความรู้สึกไม่ปลอดภัยของตัวเองได้ ก็คือการถามความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองว่า ทำไมสิ่งที่คุณไม่สามารถมีได้นั้นถึงได้น่าดึงดูดใจนัก เพราะหากได้ค้นหาคำตอบที่แท้จริงของตัวเอง คุณอาจพบว่าความจริงแล้วคุณอาจไม่ได้ต้องการสิ่งนั้นเลยแม้แต่น้อย แต่ความอิจฉาเกิดขึ้นมาจากความกลัวการถูกวิพากษ์วิจารณ์ หรือความไม่เท่าเทียมเสียมากกว่า

2. ตั้งสติ แยกความจริงกับความฝัน

เมื่อไม่สามารถทดแทนความต้องการของตัวเองได้ แต่ใจยังร้อนรุ่มอยากจะเป็นเหมือนคนอื่น กลไกหนึ่งที่เรามักสร้างขึ้นเพื่อปกป้องความรู้สึกตัวเองแบบชั่วคราวนั้น ก็คือการนั่งฝันกลางวันถึงสิ่งที่ตัวเองต้องการ ถึงแม้จะไม่ใช่เรื่องที่ทำให้ใครเดือนร้อน แต่เชื่อหรือไม่ว่า ยิ่งความอิจฉามีมากเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งจินตนาการไปไกลได้มากขึ้นเท่านั้น จนในบางครั้งก็ไม่สามารถแยกแยะความจริงกับความฝันได้เลยทีเดียว แถมการเอาแต่นั่งมโนถึงสิ่งที่ยังเป็นไปไม่ได้นั้น ยังทำให้คุณเสียเวลาชีวิตจนอาจกระทบต่อชีวิตประจำวัน ทางแก้ก็คือ คุณต้องบังคับตัวเองให้มีสติอยู่กับปัจจุบัน ไม่เช่นนั้นก็จะวนเวียนอยู่กับความอิจฉาแบบไม่รู้จบค่ะ

1. ใช้จุดแข็ง แข่งกับตัวเอง

หลังจากรู้วิธีลดพลังความอิจฉากันมาพอสมควรแล้ว ก็ถึงเวลาของวิธีที่จะสามารถกำราบความริษยาในตัวเองให้อยู่หมัด ด้วยการใช้จุดที่มีพลังที่สุดของตัวเองค่ะ ลองสำรวจตัวเองดูว่า ตัวเรานั้นมีจุดเด่นหรือข้อดีอะไรบ้าง จากนั้นจงแทนที่ความอิจฉาด้วยสิ่งที่ตัวคุณเองก็มีอยู่แล้ว และจะดีไปกว่านั้นหากคุณสามารถพัฒนาจุดเด่นของตัวเองให้แข็งแกร่งขึ้นไปอีก ยิ่งคุณให้เวลากับการแข่งกับตัวเองมากขึ้นเท่าไหร่ เวลาที่จะใช้มองชีวิตของผู้อื่นก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น กว่าจะรู้ตัวอีกที คุณอาจได้ความสำเร็จที่เป็นของตัวเองมาครอบครองแล้วก็เป็นได้ ซึ่งแน่นอนว่า ความคิดที่เอาแต่นั่งอิจฉาผู้อื่นนั้นก็คงไม่กลับเข้ามาอยู่ในหัวอีกต่อไปแล้วค่ะ


คติสอนใจ

เครื่องสำอาง แม่และเด็ก คลินิก สุขภาพ สกินแคร์ แต่งหน้า ทรงผม ทำเล็บ แฟชั่น ความรัก ดูดวง วาไรตี้ ลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย คติสอนใจ ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร ร้านคาเฟ่