“บุพเพสันนิวาส” แท้จริงแล้ว ต้องมี 4 ข้อนี้

“บุพเพสันนิวาส” ตามความหมายอันแท้จริง จะต้องเคยครองคู่ ร่วมทุกข์ร่วมสุข

ฝ่าฟันแล้วสุขสมด้วยกันมาก่อน มีลูกให้ช่วยกันเลี้ยงดูด้วยกันมาก่อน มีความจากพรากอันน่าอาลัยมาก่อน

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยสำคัญอย่างสูงคือเคยทำบุญในพุทธเขตร่วมกันมาก่อน

(จะทำบุญร่วมกันในศาสนาไหนก็ได้ ที่ไม่ใช่ลัทธิความเชื่ออันนำไปสู่อบาย แต่การทำบุญร่วมกันในพุทธเขต มีกำลัง มีความสว่างสูงส่งเหนือสิ่งอื่นใด)

๑) มี ศรัทธา ไปในแนวทางเดียวกัน

เช่นถือศาสดาองค์เดียวกัน เชื่อหรือไม่เชื่อเรื่องกรรมวิบากด้วยกัน เชื่อว่าโลกกลมหรือโลกแบนเหมือนๆกัน เชื่อแนวทางในการดำรงชีวิตรูปแบบเดียวกัน เป็นต้น

เมื่อศรัทธาไม่ตรงกันก็คุยเรื่องไม่ตรงกัน เมื่อคุยเรื่องไม่ตรงกันก็คุยกันได้ไม่นาน เมื่อคุยกันได้ไม่นานก็เบื่อกันเร็ว อันนี้คือความจริงที่เกิดขึ้นกับทุกรูปนาม ไม่จำเพาะเฉพาะคู่รักเท่านั้น

ขนาดเพื่อนกันแต่เชื่อไม่เหมือนกันยังยากที่จะเป็นเพื่อนสนิทเลยครับ ศรัทธาที่ร่วมกันปลูกฝังให้มั่นคงย่อมทำหน้าที่สร้างสายตาที่มองไปในทิศเดียวกัน ไม่ก่อความรู้สึกเป็นอื่นจากกัน

๒) มี ศีล อันเป็นเครื่องหอมทางใจเสมอกัน

คือมีความคิดงดเว้นข้อประพฤติผิดแบบเดียวกัน เป็นเหตุให้ไม่รังเกียจหรือหมั่นไส้กัน พรานหนุ่มกับพรานสาวทนกลิ่นอายม่าฟันของกันและกันได้

แต่ให้หมอศัลย์ที่มีรังสีช่วยชีวิตมาเป็นคู่ผัวตัวเมียกับมือปืนร้อยศพที่ทะมึนด้วยรังสีเอาชีวิต อย่างไรก็คงทนกลิ่นอายที่เป็นตรงข้ามของกันและกันไม่ไหว และนั่นก็เช่นเดียวกัน ถ้าฝ่ายหนึ่งเจ้าชู้

ร้อยลิ้นกะลาวน สำส่อนไปเรื่อยโดยไม่สนใจความสกปรกหมกมุ่น ย่อมน่ารังเกียจยิ่งสำหรับคนใจซื่อถือความสะอาดผัวเดียวเมียเดียว

ศีลที่ร่วมรักษาให้บริสุทธิ์ดีแล้วย่อมทำหน้าที่สร้างความอบอุ่นเชื่อมั่นในกันและกัน สนิทใจ ไว้วางใจกันเป็นมั่นเหมาะ

๓) มี จาคะ อันเป็นวิธีคิดแบ่งปันเสมอกัน

อย่างน้อยต้องเป็นผู้ให้ซึ่งกันและกันในทางใดทางหนึ่ง ไม่ใช่มีแต่ฝ่ายหนึ่งคิดอยู่ข้างเดียว อีกฝ่ายเอาเปรียบตลอด เช่นอีกฝ่ายสละเงินให้ใช้ อีกฝ่ายสละแรงปรนนิบัติ เป็นต้น

การเอารัดเอาเปรียบเกิดจากจาคะที่ไม่เสมอกันเป็นมูล ยิ่งหากต่างฝ่ายต่างคิดเจือจานคนอื่น เห็นข้าวของอะไรไม่ใช้แล้วก็คิดตรงกันว่าน่าบริจาคแก่คนที่เขาไม่มี

อย่างนี้ยิ่งไปกันได้ มีโอกาสร่วมบุญกันบ่อยๆยิ่งให้คนอื่นมากก็ยิ่งได้ความสุขในการสละมาเสริมใยแก้วร้อยสัมพันธ์ให้กันแน่นแฟ้นขึ้น

จาคะที่ร่วมกันยินดีโดยพร้อมเพรียงย่อมก่อความรู้สึกซึ้งใจอย่างใหญ่ เหมือนอยู่ด้วยกันจะเป็นที่พึ่งให้กัน ปลอดภัยร่วมกัน ประคับประคองกัน ไม่มีวันล้มพร้อมกัน

๔) มี ปัญญา เสมอกัน

กล่าวทางโลกคือคุยกันรู้เรื่อง กล่าวทางธรรมคือมีระดับการเห็นตามจริงใกล้เคียงกัน หรืออย่างน้อยเป็นไปไปในทางเดียวกัน

ไม่ใช่พูดคนละภาษา ฝ่ายหนึ่งทำก่อนคิด อีกฝ่ายคิดก่อนทำ หรือฝ่ายหนึ่งเอาอารมณ์พูด อีกฝ่ายพูดด้วยสติปัญญา

หรือฝ่ายหนึ่งเห็นชัดว่าอะไรๆไม่เที่ยง ความยึดมั่นถือมั่นเหลือน้อย แต่อีกฝ่ายหนึ่งแค่เรื่องน้อยก็ยึดมั่นถือมั่นเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต ก็คงนึกระอาหรือหมั่นไส้ในกันเป็นอย่างยิ่ง

ปัญญาที่ร่วมเสริมส่งกันและกันย่อมทำหน้าที่สร้างความร่าเริงในการสนทนา และความไม่พรั่นที่จะต้องฝ่าฟันอุปสรรคร่วมกัน

หากอดีตกาลคุณเคยครองเรือนกับผู้มีบุญเสมอกันทั้ง ๔ ข้อ ( อาจหย่อนนิดหย่อนหน่อยได้)

ขอเพียงได้มาพบกันในชาตินี้ ก็จะเกิดแรงดึงดูดที่ก่อความรู้สึกแสนดีอย่างประหลาด เหมือนเข้ากันได้ทุกอย่าง เหมือนเห็นกันได้ทุกแง่มุมด้วยความเข้าใจกระจ่าง

จากที่พระพุทธเจ้าท่านเคยตรัส ว่าหญิงชายจะพบกันทั้งชาตินี้และชาติหน้า ก็เพราะมีเหตุ คือต่างฝ่ายต่างมีศรัทธา ศีล จาคะ และปัญญาเสมอกัน คำว่า “เสมอกัน” นั้น อย่างน้อยที่สุดคือร่วมยินดีไปในแนวความเชื่อเดียวกัน มีใจปรารถนาจะรักษาศีล มีใจอยากสละให้ และอย่างน้อยพูดภาษาเดียวกันรู้เรื่อง ไม่ใช่ว่าฝ่ายหนึ่งเสนอ อีกฝ่ายนอกจากไม่สนองแล้วยังเอาแต่ขัดๆๆ

ยิ่งไปกว่านั้น พระพุทธเจ้ายังเคยตรัสว่า

ความรักจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยเหตุสองประการ

ประการแรก คือ เคยอยู่ร่วมกันมาในอดีตชาติ

ประการที่สอง คือ ชาตินี้ได้เกื้อกูลกัน

นั่นแหละความรักอย่างลึกซึ้งถึงจะเกิดได้

มองด้วยข้อสรุปนี้ คู่บุญตัวจริงก็ คือ คนที่เคยคิดดี พูดดี ทำดีต่อกันมาก่อน รวมทั้งมีศรัทธาไปในทางเดียว

แข็งแรงในศีลข้อเดียวกัน มีใจคิดสละประมาณเดียวกัน และอย่างน้อยต้องพูดกันรู้เรื่องประมาณเพลินคุยได้ไม่รู้เบื่อ

ประเภทใส่บาตรครั้งสองครั้ง อาจมีผลให้เกิดความรู้สึกปิ๊งๆบ้าง

แต่จะไม่มีเหตุปัจจัยส่งเสริมสนับสนุนให้ได้พบกันบ่อยๆ ได้เกื้อกูลกันโดยปราศจากอุปสรรคขัดขวางอย่างสิ้นเชิง

ขอบคุณที่มา rukpost

Share.